ระวัง ‼️ โรคแส้ดำในอ้อย (Smut disease of Sugarcane)


สาเหตุ เกิดจาก เชื้อรา Ustilago scitaminea เชื้อรานี้ อาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของต้นอ้อย ติดอยู่กับตอเก่า และอาจจะติดกับท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก และสามารถระบาดได้โดยการที่ ผงสปอร์จาก อ้อยที่เป็นโรคแส้ดำ ปลิวไปติดต้นอื่นๆ โรคแส้ดำ เข้าทำลายอ้อย ลดผลผลิต หรืออ้อยอาจจะตายได้

ลักษณะอาการ เมื่ออ้อยเป็นโรค จะแตกต้นมากผิดปกติ จนมองดูคล้ายกอตะไคร้ ใบยอดจะมีลักษณะคล้ายแส้ยาวสีดำ ซึ่งสีดำที่เห็นคือกลุ่มสปอร์เชื้อรา หุ้มด้วยเยื่อหุ้มสีเงินบางๆ เมื่อสปอร์แก่จะแพร่กระจายไปตามลม เข้าทำลายต้นในบริเวณข้างเคียงผลผลิตลดลงเกินกว่า 10 % CCS ลดลง ไว้ตอได้น้อยลง

การระบาด
1. การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวางโดยทางท่อนพันธุ์ จากกอที่เป็นโรค
2. เชื้ออยู่ในดินและสามารถเข้าทำลายอ้อยที่ปลูกใหม่ได้
3. เชื้อสามารถแพร่กระจายได้โดยลม และเข้าทำลายพันธุ์ที่อ่อนแอได้

การป้องกันกำจัด
1. เลือกใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น อู่ทอง 1, อู่ทอง 2, อู่ทอง 3, อู่ทอง 4
2. ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
3. ในพื้นที่มีการระบาด ถ้าเลือกใช้พันธุ์ที่ไม่ทราบข้อมูลความต้านทาน ควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมี เช่นไตรอะไดมีฟอน (ไบลีตัน 25 % WP), โปรปิโคนาโซล (ทิลท์, เดสเมล) อัตรา 48 กรัม/น้ำ 20 ลิตร นาน 30 นาที ก่อนปลูก